จิตรกรรมบนเรือกอและ





วัสดุที่ทำ
                   เรือ กอและ   เป็นเรือประมง  ลักษณะเป็นเรือยาวต่อด้วยไม้กระดาน  ส่วนหัวและท้ายสูงขึ้นจากลำเรือเพื่อดูสวยงาม เรือกอและทำด้วยไม้เนื้อแข็งที่มียางในเนื้อไม้ ไม้ตะเคียน ไม้พะยอม ไม้หลุมพอ ไม้จือยา และไม้สะยา ในส่วนลำของเรือ จะทำจาปิ้ง ซึ่งเป็นแผ่นไม้รูปสามเหลี่ยม ทำลวดลายกนก คล้ายลายกระจัง หรือลายตาอ้อยของลายไทย เพื่อใช้ปิดช่องระหว่างลำเรือและส่วนหัวและท้ายเรือ จาปิ้งจะโผล่ขึ้นมาข้างบนเล็กน้อย จาปิ้งที่อยู่ทางหัวเรือเป็นส่วนที่ศักดิ์สิทธิ์ บางา  เป็นไม้โค้งงอนขึ้นข้างบน  ทำเป็นรูปนกติดไว้ด้านขวาค่อนไปทางหัวเรือ ติดกับจาปิ้ง เพื่อไว้วางไม้ค้ำถ่อ



ลักษณะภาพเขียน
        
                 เมื่อ ทำเรือกอและเสร็จแล้ว  จะใช้สีน้ำมันทาให้เป็นสีต่าง ๆ ตามความต้องการ การทาสีเรือ นิยมทาเป็นแถบ ๆ มีสีฟ้า แดง เขียว มีการวาดลวดลายดอกไม้ และมีการพัฒนาลวดลายอื่นเข้าไป แต่ส่วนมากจะเขียนลวดลายด้วยสีฉูดฉาด ซึ่งเขียนเป็นลายไทยหรือลายอินโดนีเซีย  ที่นำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับเรือ และเริ่มเขียนลายไทยไม่ต้องร่างแบบ ใช้ปลายพู่กันป้ายสีวาดลวดลายไทยให้พริ้วไหว
 
                  ลวดลายที่นำ มาตกแต่งบนเรือกอและได้แก่ ลวดลายไทย เช่น ลายกระจัง ลายดอกพุดตาล ลายประจำยาม  ลายหน้ากระดาษ ลายรักซ้อน ลายก้านขด   ลายกนก  ๓  ตัว ลายกนกบัวคว่ำบัวหงาย ลายน่องสิงห์  ลายแข้งสิงห์ ลายนกคาบ และยังทำลวดลายจีน เช่น ลายหน้ากระดาน ลายเรขาคณิต ลายพรรณไม้ นอกจากนี้ยังทำประดิษฐ์  ลวดลายมลายูท้องถิ่น  เช่น  ลายอักษรประดิษฐ์ ลายพรรณไม้แบบเถาเลื้อย ลวดลายเรขาคณิต

      


                 จิตรกรรมที่นำมา ตกแต่งบนเรือกอและ  ได้แก่ ภาพสัตว์น้ำ เช่น ภาพปู ปลา กุ้ง ปลาหมึก ภาพสัตว์ในจินตนาการจากประเพณีรูปนกในตำนาน เช่น  ภาพนกกาเฆาะซูรอ เชื่อกันว่าเป็นการะเวกหรือนกสวรรค์ที่บินเทียมเมฆ  ประดิษฐ์ให้มีหงอนสูง   แตกออกเป็น   ๔   แฉก   มีงาเงื่อนออกมาจากปาก   หรือบางลำวาดเป็นนกบุหงา  ซึ่งมีหัวเป็นนกตัวเป็นราชสีห์   ตามตำนานเล่าว่าเป็นนกที่มีอิทธิฤทธิ์มาก  ดำน้ำได้  ปากมีเขี้ยวงาหนุมานเหินหาวได้ เมฆขลาล่อแก้ว ตราหัวเรือทำเป็นรูปพญานาค หรือเหรา นกยูง หรือภาพสัตว์ในวรรณคดี เช่น หงส์ ภาพสตรีในจินตนาการ จากการแสดงศิลปะพื้นบ้าน เช่น ภาพตัวหนังวายังเซียม ภาพสัตว์หิมพานต์ของไทย เช่น  ภาพสิงห์  คชสีห์ สิงหรามังกร ไกรสรราชสีห์ ไกรเทพ สิงหะ หนุมาน นาค นาคปักษิณ มัจฉานาคา เงือก  มังกรสกุณี ภาพสัตว์ในจินตนาการของจีน เช่น ภาพมังกร กิเลน นกกระเรียน ภาพทิวทัศน์ เช่น ภาพทิวทัศน์บก ทะเล


                  ความ สง่างามของเรือกอและอยู่ที่การตกแต่งลวดลายตั้งแต่หัวเรือถึงท้ายเรือ  การตกแต่งลวดลายจิตรกรรมบนเรือกอและ ในระยะแรกจะเลียนแบบเทคนิคการตกแต่งเรือในพระราชพิธี โดยใช้เทคนิค การแกะสลัก ซึ่งต้องใช้ฝีมือและความประณีตเป็นอย่างสูง  แต่ไม่เป็นที่นิยมสำหรับชาวบ้าน จึงได้มีการพัฒนาการตกแต่งลวดลายโดยการแกะสลักแล้วมีการระบายสี  เป็นการเพิ่มสีสันให้กับเรือกอและ   แต่เนื่องจากเทคนิคการแกะสลักยุ่งยากและมีข้อจำกัดในการใช้เครื่องมือ สำหรับแกะ  ต้องใช้เวลานานในการตกแต่งและลวดลายดูหยาบ จึงได้พัฒนาด้วยการวาดลวดลายจิตรกรรม แล้วระบายสีสวยงามสะดุดตา ชาวบ้านจึงตกแต่งเรือกอและโดยการวาดลวดลาย และระบายสี ในส่วนประดับของเรือกอและ ได้แก่ จาปิง บางา แล้วยังมีการฉลุให้เกิดลวดลาย แล้วจึงระบายสี ในระยะหลังไม่มีการแกะสลัก แต่มีการพัฒนารูปแบบของลวดลายจิตรกรรมไปตามยุคสมัย