ประวัติ

        

         
              เรือกอและเดิมเป็นเรือที่ชาวพื้นเมืองปัตตานีใช้เป็น พาหนะในการเดินทางและทำการประมงยามว่างจากการประกอบอาชีพในยามคลื่นลมสงบ และเวลามีงานนักขัตฤกษ์ของท้องถิ่นชาวเมืองปัตตานี จะนำเรือกอและเข้ามาใช้ประโยชน์ในการพักผ่อนหย่อนใจ โดยนำมาจัดแข่งขันพายเรือ เพื่อชิงความเป็นหนึ่งในด้านความเร็ว
              ที่จังหวัดปัตตานีในสมัยโบราณ มีหมู่บ้านหนึ่งเป็นหมู่บ้านที่ต่อเรือกอและและมีเรือกอและมากที่สุด จนชาวบ้านทุกคนเรียกว่าหมู่บ้านกำปงกอและ ซึ่งหมายถึงหมู่บ้านเรือกอและ ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นหมู่บ้าน “สะบารัง” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “กดาอาเนาะญอ” แปลว่า “ตลาดมะพร้าว” ซึ่งเป็นชื่อที่ได้ใหม่เมื่อภายหลังจากความนิยมในการต่อเรือกอและลดน้อยลง ทั้งนี้เพราะในหมู่บ้านดังกล่าวอยู่ติดแม่น้ำปัตตานีจึงมีต้นมะพร้าวมากพอๆ กับมีเรือที่จอดอยู่ตามชายฝั่งตลอดแนวแม่น้ำ
               สมัยก่อนที่จังหวัดปัตตานีมีการแข่งขันเรือกอและในวันฮารีรายอ และวันรายอฮัจยี เป็นประจำทุกปี  ต่อมาความนิยมในการต่อเรือกอและขยายไปเกือบทุกจังหวัดที่อยู่ใกล้ทะเลนับ ตั้งแต่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของอ่าวไทย บริเวณอำเภอหัวไทร เขตจังหวัดนครศรีธรรมราชเรื่อลงมายังอำเภอเทพาจังหวัดสงขลา และอำเภอเมือง อำเภอยะหริ่ง อำเภอปะนาเระ อำเภอสายบุรี ของจังหวัดปัตตานี ตลอดอีกหลายอำเภอในจังหวัดนราธิวาส (มัลลิกา คณานุรักษ์. 2544, 71 )


             เรือกอแลเป็นเรือประมงที่ใช้ ในแถบจังหวัดภาคใต้ตอนล่างมีลักษณะเป็นเรือยาวที่ต่อ ด้วยไม้กระดานโดยทำให้ส่วนหัวและท้ายสูงขึ้นจากลำเรือให้ดูสวยงาม นิยมทาสีแล้วเขียนลวดลายด้วยสีฉูดฉาดเป็นลายไทยหรือลายอินโดนีเซีย ซึ่งนำมาประยุกต์ให้เหมาะกับลำเรือ เรือกอและมี ๒ แบบคือ แบบหัวสั้นและแบบหัวยาว ขนาดของเรือแบ่งเป็น ๔ ขนาด โดยยึดความยาวของลำเรือเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง คือ ขนาดใหญ่ยาว ๒๕ ศอก ขนาดกลางยาว ๒๒ ศอก ขนาดเล็กยาว ๒๐ ศอก และขนาดเล็กมากเรียกว่า "ลูกเรือกอและ" ยาว ๖ ศอกโดยประมาณ และด้านนอกซึ่งค่อนขึ้นไปทางขอบเรือ ทำเป็นขอบนูนออกมาข้างนอก ลักษณะเป็นกันชนของเรือยาวตลอดลำเรือเรียกว่า "ปาแปทูวอ" ที่ตอนล่างของปาแปทูวอทำรอยแซะเนื้อไม้ด้วยกบให้เป็นแนวยาวตลอดลำเรือเรียก ว่า "กอมา" เรือทั้งลำ แบ่งเป็น ๒ ส่วน ส่วนหัวเรียกว่า "ลูแว" ส่วนท้ายเรียกว่า "บูเระแต" ถ้าแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน ส่วนหัวเรียกว่า "ปาลอ" ส่วนกลาง (ลำเรือ) เรียกว่า "ตือเราะ" ส่วนท้ายเรียกว่า "ปูงง"